สาระของทนายชาวบ้าน.ฝึกหัด

บล็อกนี้...ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ในการเรียนการสอน รายวิชาอินเตอร์เน็ตและการสื่อสารในชีวิตประจำวัน เพื่อแลกเปลี่ยนสาระความรู้ระหว่างเพื่อนทั้งในและนอกห้องเรียน หากมีเนื้อหาสาระไม่ถูกต้องหรือผิดพลาดหรือกระทำการใดๆในทางที่ไม่ดี ทางผู้จัดทำบล็อกนี้ ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ...

วันอาทิตย์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2555

สาระกฎหมายไทย เรื่อง การจำนำ


การจำนำ
การจำนำ คือ การที่บุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ผู้จำนำนำสังหาริมทรัพย์ไปส่งมอบให้อยู่ในความครอบครองของบุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า ผู้รับจำนำเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ที่ผู้จำนำเป็นหนี้ผู้รับจำนำ (ป.พ.พ. มาตรา 747)
ตัวอย่าง นาย ก. ได้กู้เงินนาย ข. เป็นเงิน 3,000 บาท โดยนาย ก. มอบสร้อยคอทองคำให้นาย ข. ยึดถือไว้ เพื่อเป็นหลักประกันในการชำระหนี้เงินกู้ 3,000 บาทของนาย ก. สัญญาเช่นนี้ เรียกว่า สัญญาจำนำ
ทรัพย์สินที่จะใช้การจำนำได้
ทรัพย์สินที่จะใช้จำนำได้แก่ สังหาริมทรัพย์ทุกชนิด กล่าวคือ ทรัพย์สินทั้งหลายซึ่งอาจเคลื่อนจากที่หนึ่งไปแห่งอื่นได้เช่น รถยนต์, นาฬิกา, แหวน, สร้อย ฯลฯ
สิทธิของผู้รับจำนำ
ผู้รับจำนำมีสิทธิยึดของที่จำนำไว้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้คืนแล้วจนครบถ้วน    (ป.พ.พ. มาตรา 758)
สิทธิการจำนำมีขอบเขตเพียงใด
การจำนำย่อมเป็นประกันเพื่อการชำระหนี้ดังต่อไปนี้คือ
1. ต้นเงิน
2. ดอกเบี้ย
3. ค่าเสียหายในการไม่ชำระหนี้
4. ค่าธรรมเนียมในการบังคับจำนำ
5. ค่าใช้จ่ายเพื่อรักษาทรัพย์สินที่จำนำ
6. ค่าทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากความชำรุดบกพร่องของทรัพย์ที่จำนำ ซึ่งผู้รับจำนำมองไม่เห็นในวันรับจำนำนั้น
เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว หากลูกหนี้ (ผู้จำนำ) ผิดนัดไม่ยอมชำระหนี้ ผู้รับจำนำต้องบังคับจำนำทรัพย์ที่จำนำนั้น ผู้รับจำนองจะยึดถือเอาทรัพย์จำนำหลุดเป็นของตนเองโดยไม่มีการบังคับจำนำไม่ได้

การบังคับจำนำ
          มีวิธีการดังต่อไปนี้คือ
1. ผู้รับจำนำต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้ก่อนว่า ให้ลูกหนี้จัดการชำระหนี้รวมทั้งดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายต่างๆ ดังได้กล่าวมาแล้วภายในเวลาอันสมควรซึ่งได้กำหนดไว้ในหนังสือบอกกล่าวดังกล่าว
2. ถ้าลูกหนี้ละเลยไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาตามคำบอกกล่าว ผู้รับจำนำมีสิทธินำเอาทรัพย์สินที่จำนำออกขายทอดตลาดได้
3. ผู้รับจำนำต้องมีหนังสือบอกกล่าวให้ผู้จำนำทราบถึงวันที่จะขายทอดตลาดและสถานที่ที่จะทอดตลาด

ข้อยกเว้น
แต่ถ้าลูกหนี้ค้างชำระเกินกว่าเวลาที่กำหนด 1 เดือน และไม่สามารถจะบอกกล่าว ก่อนได้ผู้รับจำนำไม่ต้องบอกกล่าวให้ลูกหนี้ทราบก่อนแต่อย่างใด ผู้รับจำนำมีอำนาจนำทรัพย์สินออกขายทอดตลาดได้ทันที (ป.พ.พ. มาตรา 765)
ตัวอย่าง นาย ก. ได้กู้เงิน นาย ข. 1 หมื่นบาท กำหนดชำระคืนภายใน 3 เดือน โดยนำแหวนเพชรไปจำนำไว้กับนาย ข. ครั้นเวลาล่วงมาเป็นเวลา 4 เดือนแล้ว นาย ก. ก็ยังไม่นำเงินไปชำระคืนและไม่ทราบว่านาย ก. ได้ย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ที่ใด นาย ข. มีสิทธินำแหวนเพชรดังกล่าวออกขายทอดตลาดได้เลยโดยไม่ต้องบอกกล่าวให้นาย ก. ทราบก่อนแต่อย่างใด

ข้อตกลงกันไว้ล่วงหน้าว่าถ้าลูกหนี้ผิดนัดแล้วให้ทรัพย์ดังกล่าวตกเป็นของผู้รับจำนำโดยไม่ต้องมีการบังคับจำนำ นั้น ข้อตกลงเช่นนี้ย่อมไม่สมบูรณ์ไม่มีผลบังคับได้ กล่าวคือกฎหมายบังคับให้ต้องมีการบังคับจำนำด้วยวิธีการที่กล่าวมาแล้วเท่านั้น ผู้รับจำนำจะใช้สิทธิยึดเอาทรัพย์ที่จำนำหลุดเป็นของตนเองไม่ได้
          ตัวอย่าง นาย ก. ไปกู้เงินจาก นาย ข. เป็นเงิน 1 หมื่นบาท โดยนำแหวนเพชรประจำตระกูลไปจำนำไว้กับนาย ข. กำหนดชำระหนี้คืนภายใน 3 เดือน โดยมีข้อตกลงว่าหากถึงกำหนดแล้ว นาย ก. ยังไม่ชำระหนี้ให้แหวนนั้นตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนาย ข. ทันที ครบกำหนด 3 เดือนแล้ว นาย ก.ผิดนัดไม่นำเงินมาชำระต่อมาอีก 3 วันหลังครบกำหนดแล้ว นาย ก. หาเงินมาใช้หนี้ให้แก่นาย ข. และขอไถ่แหวนคืน แต่นาย ข. ไม่ยอมให้อ้างว่าครบกำหนดแล้ว นาย ก. ไม่นำเงินมาชำระแหวนดังกล่าวจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของตนแล้วตามข้อตกลง จะได้หรือไม่

         กฎหมายได้กำหนดไว้แล้วว่าข้อตกลงดังกล่าวไม่สมบูรณ์ไม่มีผลบังคับ ดังนั้น แหวนดังกล่าวจึงยังเป็นกรรมสิทธิ์ของนาย ก. อยู่หาได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนาย ข. ตามที่กล่าวอ้างไม่ นาย ข. จะต้องรับชำระหนี้และคืนแหวนให้แก่ นาย ก. ไป
เมื่อขายทอดตลาดได้เงินมาแล้วต้องดำเนินการอย่างไร
เมื่อขายทอดตลาดได้เงินสุทธิเท่าใด ผู้รับจำนำมีสิทธิหักเงินดังกล่าวเพื่อชำระหนี้คืนแก่ตนได้จนครบถ้วน หากมีเหลือเท่าใด ผู้รับจำนำต้องส่งคืนให้แก่ผู้จำนำไป
แต่ถ้าเงินที่ขายทอดตลาดได้เงินไม่พอชำระหนี้คืนแล้ว เงินยังขาดอยู่เท่าใดผู้จำนำต้องใช้คืนให้แก่ผู้รับจำนำครบถ้วน (ป.พ.พ. มาตรา 767)
ตัวอย่าง นาย ก. นำแหวนเพชรไปจำนำไว้กับนาย ข. เป็นเงิน 1 หมื่นบาท แล้วนาย ก. ผิดนัดไม่ชำระหนี้ นาย ข. จึงบังคับนำแหวนเพชรออกขายทอดตลาดได้เงินเพียง 5,000 บาท นาย ก. ยังต้องรับผิดชอบชดใช้เงินที่ยังขาดอยู่อีก 5,000 บาท ให้แก่นาย ข. จนครบถ้วน

ถ้าในระหว่างจำนำผู้รับจำนำส่งมอบทรัพย์ที่จำนำคืนให้แก่ผู้จำนำแล้วจะมีผลอย่างไร
ถ้าในระหว่างจำนำผู้รับจำนำส่งมอบทรัพย์สินที่จำนำคืนให้แก่ผู้จำนำแล้ว กฎหมายให้ถือว่าการจำนำนั้นระงับไป ผู้รับจำนำจะใช้สิทธิในการบังคับจำนำเอาทรัพย์นั้นอีกไม่ได้ คงทำได้แต่เพียงฟ้องร้องบังคับตามหนี้ที่ลูกหนี้เป็นหนี้ค้างชำระแก่ตนได้ เท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น