สัญญาประนีประนอมยอมความ
การประนีประนอมยอมความ เป็นเอกเทศสัญญาประเภทหนึ่งที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติไว้ เป็นสัญญาที่ระงับข้อพิพาทต่างๆ
ความหมายของสัญญาประนีประนอมยอมความ
ตาม มาตรา ๘๕๐ “อันว่าประนีประนอมยอมความนั้น คือ สัญญาซึ่งผู้เป็นคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่ หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน”
ประเภทของการประนีประนอมยอมความ แบ่งได้ ๒ ประเภท คือ
๑. การประนีประนอมยอมความนอกศาล เป็นการระงับข้อพิพาทโดยมีเรื่องพิพาทเกิดขึ้นแล้ว แต่ยังมิได้นำเรื่ององศาล หรือฟ้องแล้วแต่คดียังไม่ถึงที่สุด แล้วคู่กรณียอมความกันโดยศาลมิรู้ หรือแม้คดีจะถึงที่สุดแล้ว ก็ยอมความกันได้ การยอมความนอกศาลนี้อยู่ในบังคับมาตรา ๘๕๐ ถึง มาตรา ๘๕๒ และเรื่องนิติกรรม หนี้ สัญญา
๒. การประนีประนอมยอมความในศาล เป็นกรณีที่คดีกำลังอยู่ในศาล หมายถึงการที่มีการฟ้องร้องคดีต่อศาลแล้วในระหว่างที่มีการพิจารณาคดี คู่กรณีได้มีการตกลงระงับข้อพิพาทที่ฟ้องร้องกันโดยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันแล้วแจ้งให้ศาลทราบและศาลก็จะพิพากษาตามที่คู่ความตกลงกันนั้น
ประโยชน์ของสัญญาประนีประนอมยอมความ ดังนี้
๑. รวดเร็ว การประนีประนอมยอมความนี้เป็นวิธีการระงับข้อพิพาทที่รวดเร็วกว่าฟ้องคดีต่อศาลและการอนุญาโตตุลาการ เพราะเพียงคู่กรณีตกลงปรึกษากันให้ข้อพิพาทเสร็จสิ้นไป
๒. ประหยัดค่าใช้จ่าย เนื่องจากการประนีประนอมมีความรวดเร็วและเป็นการตกลงกันเองของคู่กรณี ไม่ต้องขอความช่วยเหลือจากคนภายนอก เช่น ทนาย หรือแม้จะเป็นการยอมความนอกศาลก็ไม่เสียค่าขึ้นศาล อย่างไรก็ตามหากเป็นการยอมความในศาล ก็ยังเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการรับคำตัดสินพิพากษาจากศาลมาก
๓. รักษาชื่อเสียงและความลับของคู่กรณี เพราะคู่กรณีตกลงระงับข้อพิพาทกันเอง
๔. รักษาความสัมพันธ์ของคู่กรณีพิพาท เนื่องจากการยอมความเป็นการระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธี โดยอาจตกลงกันเอง หรือมีคนกลาง และต้องตกลงด้วยการสมัครใจ ไม่มีกระบวนการพิจารณา ไม่มีการสืบพยานที่มุ่งแต่การแพ้ชนะของคดี
ผลของการประนีประนอมยอมความ
๑. ผลทางกฎหมายของการประนีประนอมยอมความ เป็นไปตามมาตรา ๘๕๒ กล่าวคือ ย่อมทำให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอมสละนั้นสิ้นไป และทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้น ไม่สามารถไปบังคับกันในข้อพิพาทเดิมได้ ให้บังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นๆ หมดสิทธิเรียกร้องเดิมที่เคยมีในบางกรณีผลของสัญญาประนีประนอมนั้นอาจมีผลถึงบุคคลภายนอกได้
ดังตัวอย่างต่อไปนี้ใน ฎีกาที่ ๑๒๙๕/๒๕๒๓ ในกรณีประกันภัยรถยนต์ ถ้าผู้เอาประกันภัย ไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความ กับผู้ทำละเมิด คงทำให้มูลหนี้ละเมิดระงับไปตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามมาตรา ๘๕๒ ส่วนหนี้ตามสัญญาประกันภัย ระหว่างผู้รับประกันภัย กับผู้เอาประกันภัย ยังไม่ระงับไป ดังนั้น ถ้าผู้ทำละเมิด ไม่ชำระหนี้ ตามสัญญาประนีประนอมยอมความผู้รับประกันภัย จึงใช้ค่าสินไหมทดแทน ให้แก่ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประกันภัย ก็รับช่วงสิทธิ ของผู้เอาประกันภัย ไปฟ้องผู้ทำละเมิดได้ แต่ทั้งนี้ ต้องไม่เกินจำนวนเงิน ตามสัญญา ประนีประนอมยอมความ
๒. วิธีการบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ในกรณีที่คู่สัญญาไม่ยอมปฏิบัติตาม
๒.๑ กรณีบังคับตามสัญญาประนีประยอมความนอกศาล ต้องฟ้องต่อศาลตามสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น ฟ้องหนี้เดิมมิได้
๒.๒ กรณีบังคับตามสัญญาประนีประยอมความในศาล เมื่อศาลพิพากษาแล้วมีผลทันทีมิต้องมีการฟ้องอีก หากฟ้องอีกเป็นฟ้องซ้ำ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น