สาระของทนายชาวบ้าน.ฝึกหัด

บล็อกนี้...ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ในการเรียนการสอน รายวิชาอินเตอร์เน็ตและการสื่อสารในชีวิตประจำวัน เพื่อแลกเปลี่ยนสาระความรู้ระหว่างเพื่อนทั้งในและนอกห้องเรียน หากมีเนื้อหาสาระไม่ถูกต้องหรือผิดพลาดหรือกระทำการใดๆในทางที่ไม่ดี ทางผู้จัดทำบล็อกนี้ ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ...

วันอังคารที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2555

เก็บตก กฎหมาย เรื่อง ความยินยอมไม่ทำให้เป็นละเมิด

เรื่อง ความยินยอมไม่ทำให้เป็นละเมิด
        “ความยินยอมไม่ทำให้เป็นละเมิด” นั้นเป็นหลักกฎหมายทั่วไป มีความหมายที่บุคคลซึ่งยอมต่อการกระทำอย่างหนึ่ง หรือบุคคลที่เข้าเสี่ยงภัยยอมรับความเสียหาย จะฟ้องคดีเกี่ยวกับการกระทำหรือความเสียนั้นมิได้ และความยินยอมทำให้ผู้กระทำความเสียหายไม่ต้องรับผิดสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้น และถือว่าไม่มีการละเมิดเกิดขึ้นเลยทีเดียว

        ก. ยอมให้ ข. ชกต่อยที่บริเวณใบหน้า เพื่อแสดงความแข็งแรงของ ก. ปรากฏว่าฟันของ ก. หักหลุดออกมา 1 ซี่ ก. จะเรียกค่าเสียหายจาก ข. อ้างว่าไม่รู้ว่าการให้ ข. ชก ฟันจะหลุดออกมา จะเรียกค่าเสียหายได้หรือไม่

        ก. ยอมให้ ข. ชกต่อยแล้ว เป็นความยินยอมของ ก. ก. จะอ้างว่าไม่รู้ว่าการให้ ข. ชกต่อย จะทำให้ฟันหักหลุดออกมาไม่ได้ การที่ ข. ชก ก. ไม่เป็นละเมิด

  **ข้อสังเกตสำคัญ
       อย่างไรก็ตาม ความยินยอมที่ขัดต่อกฎหมาย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ผู้กระทำไม่อาจยกขึ้นมาเพื่อยกเว้นความผิดทางอาญาได้
       ตัวอย่าง นายเอกเพิ่งสักยันต์มาต้องการลองของ นายเอกจึงท้าให้นายโทใช้ปืนยิงตน 3 นัด เมื่อนายโทใช้ปืนยิงนายเอก ปรากฏว่า เพียงแค่นัดแรก นายเอกก็ตายสนิท เช่นนี้ นายโทต้องรับผิดทางอาญาฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา อย่างไรก็ตาม ในทางแพ่งนั้น ทายาทของนายเอกไม่อาจเรียกค่าสินไหมทดแทนได้ เป็นไปตามหลักกฎหมายทั่วไปที่ว่า ความยินยอมไม่ทำให้การนั้นเป็นละเมิด
                                                               "เองกินเหล้าเมายาไม่ว่าดอก
                                                       อย่าออกนอกทางไปให้เสียผล
                                                       แต่อย่ากินสินบาทคาดสินบน
                                                       เรามันชนชั้นปัญญาตุลาการ"

เก็บตก กฎหมาย เรื่อง ความเข้าใจที่ถูกต้องของคำว่า "กฎหมายย้อนหลัง"

                                          ความเข้าใจที่ถูกต้องของคำว่า "กฎหมายย้อนหลัง"

        การใช้กฎหมายย้อนหลังนั้น ยังมีผู้ที่ไม่เข้าใจหรือเข้าใจไม่ถูกต้องอีกจำนวนมาก เหตุเกิดเพราะความผิดพลาดในการท่องวลี "ห้ามใช้กฎหมายย้อนหลัง" โดยท่องวลีดังกล่าวไม่ครบทำให้ความหมายของกฎหมายผิดเพี้ยนไป
อันที่จริง หากต้องการท่องวลีใดทางกฎหมาย ขอให้ท่องให้ครบ จะไม่ทำให้ความหมายของวลีในทางกฎหมายผิดเพี้ยนไปได้
เช่น "ฟ้องเท็จ" ถ้าท่องแค่นี้จะทำให้เข้าใจว่า ฟ้องเท็จเป็นความผิดทั้งหมด อันที่จริง เป็นความผิดเฉพาะ "ฟ้องอาญาเท็จ" เท่านั้น เวลาท่องต้องท่องว่า "175 ฟ้องอาญาเท็จ" หากท่องได้ครบจะเข้าใจทันทีว่าฟ้องคดีแพ่งเป็นเท็จไม่มีความผิด แต่ผิดเฉพาะฟ้องคดีอาญาเป็นเท็จเท่านั้น
ในเรื่องกฎหมายย้อนหลังก็เช่นกัน การท่องวลีทางกฎหมายว่า "ห้ามใช้กฎหมายย้อนหลัง" นั้นเป็นการท่องวลีทางกฎหมายที่ไม่ครบ ทำให้เสียความหมายเข้าใจความหมายผิดเพี้ยน อันที่จริงต้องท่องว่า "กฎหมายอาญาไม่มีผลย้อนหลังเป็นโทษแก่ผู้กระทำความผิด"
เมื่อท่องวลีดังกล่าวได้ครบ จะได้ความหมายที่ครบถ้วนสมบูรณ์ว่า การใช้กฎหมายย้อนหลังนั้นห้ามเฉพาะการใช้กฎหมายอาญาเท่านั้น ทีนี้เราต้องทำความเข้าใจว่า อะไรคือกฎหมายอาญา

        กฎหมายอาญานั้น มิเฉพาะแก่กฎหมายที่มีชื่อว่า "ประมวลกฎหมายอาญา" เท่านั้น แต่หมายถึงกฎหมายทุกฉบับที่มีโทษทางอาญา โทษทางอาญาต้องไปดูที่ ป.อาญา ม.๑๘ บัญญัติไว้ ๕ ประการ ได้แก่
1. ประหารชีวิต
2. จำคุก
3. กักขัง
4. ปรับ
5. ริบทรัพย์สิน
        หากกฎหมายออกมาภายหลัง แล้วย้อนหลังมาเป็นโทษแก่ผู้กระทำความผิดแล้วจะทำไม่ได้
เวลาจะท่องวลีในกฎหมาย ต้องท่องให้ครบ เพราะหากไม่ครบความหมายเปลี่ยนไปทันที ดังนั้น หากกฎหมายอาญาที่ออกมาแล้วเป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดก็บังคับได้ เช่น เดิมกฎหมายเรื่องนี้บอกว่า โทษคือจำคุก หากผู้กระทำความผิดกระทำตามกฎหมายเดิม โทษต้องจำคุก ต่อมาเมื่อกฎหมายใหม่ออกมา เปลี่ยนเป็นโทษปรับ ศาลลงโทษปรับได้ค่ะ เพราะเป็นการใช้กฎหมายย้อนหลังในส่วนที่เป็นคุณ
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 52 นายดำกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่น ไม่ถึงกับเป็นอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ระวางโทษจำคุก ต่อมา วันที่ 1 ม.ค. 53 กฎหมายแก้ให้ความผิดฐานนี้มีแต่โทษปรับ เช่นนี้ เราสามารถนำโทษปรับมาใช้ลงโทษนายดำได้ เพราะเป็นการลงโทษที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด ในทางกลับกัน หากกฎหมายเดิม มีโทษแค่ปรับ แต่กฎหมายใหม่ออกมามีโทษถึงจำคุก จะนำกฎหมายที่ออกใหม่ไปใช้ลงโทษจำคุกแก่นายดำในความผิดที่นายดำได้กระทำ ก่อนที่กฎหมายใหม่จะใช้บังคับไม่ได้
         ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 วางหลักกฎหมายไว้ดังนี้
มาตรา 2 บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการ อันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนด โทษไว้และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้น ต้องเป็นโทษที่ บัญญัติไว้ในกฎหมาย
        ถ้าตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง การกระทำ เช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป ให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการ เป็นผู้กระทำความผิด และถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้ว ก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น ถ้ารับ โทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง
นอกจากนี้ยังมีการรองรับโดยรัฐธรรมนุญแห่งราชอาณาจักรไทยตลอดมาว่า
บุคคลจะไม่ต้องรับโทษอาญาเว้นแต่ได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่บุคคลนั้นจะหนักกว่าโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำผิดมิได้
        หลักการดังกล่าวเป็นหลักกฎหมายสากล "No crime no punishment without law" หรือภาษาไทย แปลได้ว่า ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ ถ้าไม่มีกฎหมาย ตรงกับหลักกฎหมายเยอรมันว่า Strafgesetzbuches ซึ่งเราก็ลอกมา หลักการดังกล่าว ใช้บังคับเฉพาะแต่ในกฎหมายอาญาเท่านั้น ดั่งเคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้หลายเรื่องหลายกรณี

        คำพิพากษาฎีกาที่เคยวินิจฉัยเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายที่มิได้มีผลเป็นการให้จำเลยต้องรับโทษทางอาญานั้น ไม่อยู่ในบังคับแห่งมาตรา 2 นี้ มีอยู่หลายเรื่อง เช่น
        คำพิพากษาฎีกาที่ 6411/2534 ฎส.10 น.206 วินิจฉัยว่า การถอนสัญชาติไทยของบุคคลบางจำพวก แม้มีผลกระทบกระเทือนสิทธิอยู่บ้างก็ย้อนหลังได้เพราะการถอนสัญชาติไม่ใช่โทษทางอาญา
โทษทางอาญามี 5 สถาน ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ท่านควรท่องให้จำให้ได้ การถอนสัญชาติไม่ใช่ หนึ่งในห้าโทษอาญา จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 2
        คำพิพากษาฎีกาที่ 219/2534 การที่ศาลสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ไม่ใช่การลงโทษทางอาญา จึงย้อนหลังไปบังคับแก่ทรัพย์สินที่ยังคงมีอยู่ได้
       คำพิพากษาฎีกาที่ 4593/2545 คำสั่งศาลให้ส่งตัวจำเลยไปฝึกอบรมยังสถานพินิจ ไม่ใช่โทษทางอาญา จึงย้อนหลังไปบังคับให้ส่งตัวจำเลยไปยังสถานพินิจได้
      คำพิพากษาฎีกาที่ 9083/2544 การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นมาตรการทางกฎหมาย ไม่ใช่โทษทางอาญา ดังนั้น ศาลย่อมมีอำนาจเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งของจำเลยได้

ความฝันนักกฎหมาย

เก็บตก กฎหมาย เรื่อง ของหมั้น กับ สินสอด

เรื่อง  ของหมั้น กับ สินสอด
ของหมั้น กับ สินสอด เป็นคำศัพท์ทางกฎหมายที่ท่านผู้อ่านอาจพบเจออยู่เสมอ ๆ ผมจึงหยิบยกคำสองคำขึ้นมาเพื่อเก็บตกความรู้ทางกฎหมายของท่าน
-------------------------------------------------------------------------------------
ของหมั้น ได้แก่ทรัพย์สินที่ฝ่ายชายให้แก่หญิงคู่หมั้น เพื่อเป็นหลักฐานการหมั้นและประกันว่าจะสมรสกับหญิงนั้น
ผู้ที่ทำการหมั้นมิได้จำกัดเฉพาะผู้ที่เป็นคู่หมั้นเท่านั้น แต่ยังหมายถึงบุคคลอื่น ๆ ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับชายหรือ หญิงคู่หมั้นด้วย เช่น บิดามารดา ผู้ปกครอง
หากบุคคลผู้ทำการหมั้นมิใช่ชายหญิงคู่หมั้นแล้ว การหมั้นจะผูกพันเฉพาะผู้ที่ทำการหมั้นเท่านั้นจะผูกพันชายหรือหญิงต่อเมื่อชายหญิงคู่หมั้นได้ตกลงยินยอมในการหมั้นนั้นด้วย
การหมั้นจะใช้บังคับได้ต่อเมื่อมีการส่งมอบของหมั้นให้แก่หญิง ถ้าไม่มีการส่งมอบของหมั้นแม้จะมีการหมั้นตามจารีตประเพณีของการหมั้น การหมั้นก็ไม่สมบูรณ์จะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ (จะฟ้องร้องเรียกให้ฝ่ายชายส่งมอบของหมั้นไม่ได้ หรือจะเรียกค่าทดแทนในกรณีที่มีการผิดสัญญาหมั้นไม่ได้)ซึ่งของหมั้นนั้นจะมีมูลค่าเท่าใดก็ได้ขอเพียงให้มีการให้ของหมั้นแก่หญิงคู่หมั้นก็เป็นการเพียงพอ
ของหมั้นเมื่อมีการให้แก่หญิงแล้วย่อมตกเป็นสิทธิแก่หญิงทันที นอกจากนี้ของหมั้นก็ไม่ถือว่าเป็นสินสมรสด้วย
ของหมั้นถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ จะต้องส่งมอบ ให้หญิงทันที ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ จะต้องจดทะเบียนโอนด้วย
การหมั้นที่สมบูรณ์ย่อมนำไปสู่การสมรส
แต่ในกรณีที่การสมรสไม่เกิดขึ้นไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอะไรจะบังคับให้มีการสมรสไม่ได้
ซึ่งกรณีนี้เป็นสิ่งที่การหมั้นหรือสัญญาหมั้นแต่ต่างจากสัญญาอื่นๆซึ่งสามารถบังคับให้ปฏิบัติตามสัญญาได้ แม้ว่าจะไม่สามารถบังคับให้สมรสไม่ได้ แต่ยังมีผลต่อของหมั้นซึ่งฝ่ายชายได้ให้แก่หญิงคู่หมั้นด้วยว่าหญิงนั้นจะต้องคืนของหมั้นให้แก่ชาย ถ้าหญิงคู่หมั้นไม่ย่อมสมรสโดยไม่มีเหตุอันสมควร(เท่ากับผิดสัญญาหมั้น)
แต่ในกรณีดังต่อไปนี้หญิงคู่หมั้นไม่ต้องคืนของหมั้นแก่ฝ่ายชายชาย เช่นชายคู่หมั้นผิดสัญญาหมั้นโดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือต่างฝ่ายต่างละเลยไม่นำพาต่อการจดทะเบียน จะถือว่าหญิงคู่หมั้นผิดสัญญาไม่ได้
-------------------------------------------------------------------------------------
สินสอด หมายถึง ทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดาฝ่ายหญิงเพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส โดยสินสอดนั้นจะส่งมอบเมื่อใดก็ได้
อย่างไรก็ตาม หากว่าเป็นทรัพย์สินที่ให้เพื่อ ขอขมาบิดามารดาของฝ่ายหญิงที่ตนล่วงเกินลูกสาวของเขา ทรัพย์สินนั้นไม่ใช่สินสอด แม้ต่อมาภายหลังไม่มีการสมรสชายจะเรียกคืนไม่ได้ เพราะสิ่งของที่ให้กันนั้นกฎหมายไม่ถือว่าเป็นสินสอด
ในกรณีดังต่อไปนี้ฝ่ายชายเรียกสินสอดคืนได้ มีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
1.ถ้าไม่มีการสมรสเกิดขึ้นโดยเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิง เหตุที่ว่าทำให้ชายไม่สมควร หรือไม่อาจสมรสกับหญิงนั้น หรือ
2.ถ้าไม่มีการสมรสโดยมีพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ