สาระของทนายชาวบ้าน.ฝึกหัด

บล็อกนี้...ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ในการเรียนการสอน รายวิชาอินเตอร์เน็ตและการสื่อสารในชีวิตประจำวัน เพื่อแลกเปลี่ยนสาระความรู้ระหว่างเพื่อนทั้งในและนอกห้องเรียน หากมีเนื้อหาสาระไม่ถูกต้องหรือผิดพลาดหรือกระทำการใดๆในทางที่ไม่ดี ทางผู้จัดทำบล็อกนี้ ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ...

วันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2555

สาระกฎหมายไทย เรื่อง การระงับคดีอาญา

             ๑. คดีอาญาเลิกกันโดยยินยอมเสียค่าปรับอย่างสูง  ในคดีอาญาซึ่งมีโทษเล็กน้อย  คือ   มีโทษปรับแต่เพียงสถานเดียว    เมื่อผู้กระทำผิดยินยอมเสียค่าปรับในอัตราอย่างสูงสำหรับความผิดนั้นแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนศาลพิจารณาคดีนั้นก็เป็นอันเลิกกัน   ตัวอย่าง เช่น บริษัทดอกประดู่ จำกัด  ละเลยไม่ลงคำว่า "จำกัด" ไว้ท้ายชื่อบริษัท ในป้ายสำนักงาน    ซึ่งเป็นความผิดอาญา   ตาม  พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด  สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ.๒๔๙๙ มาตรา ๕  ต้องระวางโทษปรับสถานเดียวไม่เกิน ๒,๐๐๐ บาท อย่างนี้เมื่อบริษัทดอกประดู่ จำกัด   ถูกเจ้าพนักงานดำเนินคดีก่อนที่จะนำคดีดังกล่าวขึ้นฟ้องต่อศาล  บริษัทยินยอมเสียค่าปรับในอัตราอย่างสูงคือ  ๒,๐๐๐ บาทแก่พนักงานเจ้าหน้าที่คดีอาญานั้นก็เป็นอันเลิกกัน
              ๒. คดีอาญาลหุโทษเลิกกันโดยการเปรียบเทียบ  ในคดีอาญาความผิดลหุโทษหรือความผิดอาญาที่มีอัตราโทษไม่สูงกว่าความผิดลหุโทษ  หรือคดีอื่นที่มีโทษปรับสถานเดียวอย่างสูง
ไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท หรือความผิดต่อกฎหมายภาษีอากร ซึ่งมีโทษปรับอย่างสูงไม่เกินกว่า๑๐,๐๐๐ บาท เมื่อผู้ต้องหาชำระค่าปรับตามที่พนักงานสอบสวนทำการเปรียบเทียบแล้ว คดีก็เป็นอันเลิกกัน   ตัวอย่าง  นายแดง เสพสุราจนเมาแล้วประพฤติตนวุ่นวายครองสติไม่ได้ขณะอยู่ในสาธารณะสถานต่าง ๆ ย่อมเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๗๘ ซึ่งมีอัตราโทษปรับไม่เกิน ๕๐๐ บาท  ซึ่งเป็นความผิดลหุโทษ  เมื่อนายแดงถูกจับส่งพนักงานสอบสวน และพนักงานสอบสวนได้ทำการเปรียบเทียบปรับนายแดงเป็นเงิน ๑๐๐ บาท มาชำระให้ตามที่พนักงานสอบสวนทำการเปรียบเทียบ คดีก็เป็นอันเลิกกัน
               ๓. คดีอาญาในความผิดอันยอมความได้ ระงับโดยการถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้องและยอมความ   สำหรับคดีอาญาความผิดอันยอมความได้สามารถระงับคดีได้ ดังนี้
                             (๑) โดยการถอนคำร้องทุกข์  เนื่องจากความผิดอาญาอันยอมความได้นั้น   เจ้าพนักงานจะดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดได้ก็ต่อเมื่อผู้เสียหายได้ร้องทุกข์(แจ้งความ) ต่อเจ้าพนักงานเสียก่อน   และจะต้องร้องทุกข์ภายในกำหนดเวลา    เดือน  นับแต่วันที่รู้เรื่องการกระทำผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด  ฉะนั้นเมื่อผู้เสียหายร้องทุกข์และต่อมาเจ้าพนักงานได้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหา ไม่ว่าคดีจะอยู่ในระหว่างการดำเนินคดีของพนักงานสอบสวน  พนักงานอัยการ  หรือศาล ผู้เสียหายก็มีสิทธิที่จะระงับหรือยกเลิกคดีด้วยวิธีถอนคำร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ต่อพนักงานอัยการ หรือต่อศาลได้โดยแจ้งต่อเจ้าพนักงานดังกล่าวว่าไม่ประสงค์จะดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดต่อไป
                               (๒) โดยการยอมความ สำหรับคดีอาญาอันยอมความได้นี้ เมื่อผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดแล้ว    และไม่ว่าคดีดังกล่าวจะอยู่ในระหว่างการดำเนินคดีของพนักงานสอบสวน  พนักงานอัยการ  หรือศาล หรือผู้เสียหายก็มีสิทธิที่จะระงับคดีหรือยกเลิกคดีโดยวิธียอมความได้อีกวิธีหนึ่งการยอมความในคดีอาญาดังกล่าวไม่มีแบบวิธีอย่างใด เพียงแต่แสดงหรือกระทำอาการใด ๆ ซึ่งทำให้เห็นโดยชัดแจ้งว่าไม่ประสงค์จะดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดต่อไป ก็เป็นอันใช้ได้แล้ว  ตัวอย่าง เช่น นายขาวยื่นฟ้องนายแดงต่อศาลว่า นายแดงออกเช็คโดยเจตนาไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค และธนาคารได้ปฏิเสธไม่ยอมจ่ายเงินตามเช็คให้แก่นายขาว ในระหว่างที่ศาลกำลังกำลังสืบพยานอยู่ นายแดงและนายขาวได้ทำความตกลงต่อหน้าศาลว่า นายแดงจะชดใช้เงินตามเช็คให้นายขาว  นายขาวจึงไม่ติดใจดำเนินคดีกับนายแดงต่อไป  ก็ถือว่าเป็นการายอมความกันแล้ว  ซึ่งมีผลทำให้คดีดังกล่าวระงับไป
                                 (๓) โดยการถอนฟ้อง   คดีอาญาอันยอมความได้บางครั้งผู้เสียหายอาจจะไม่ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน  แต่ได้ยื่นฟ้องผู้กระทำความผิดต่อศาลด้วยตนเอง  ในกรณีนี้แม้คดีดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุด  เช่น  กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล ไม่ว่าในศาลชั้นต้น   ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา หากผู้เสียหายประสงค์จะระงับคดีหรือยกเลิกคดีก็สามารถทำได้โดยการถอนฟ้องได้ ซึ่งเมื่อถอนฟ้องไปแล้วก็จะนำคดีดังกล่าวมาฟ้องอีกไม่ได้  ตัวอย่าง  เช่น  นายดำถูกนายเขียวฉ้อโกงเงินจำนวน ๒,๐๐๐ บาท นายดำจึงได้ ยื่นฟ้องนายเขียวเป็นคดีอาญาในข้อหาฉ้อโกง ต่อมาศาลชั้นต้นตัดสินจำคุกนายเขียว ๖ เดือน นายเขียว
อุทธรณ์ ขณะคดีกำลังอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์นายเขียวคืนเงินให้แก่นายดำ นายดำจึงถอนฟ้องคดีดังกล่าว ซึ่งก็มีผลทำให้คดีนี้เป็นอันระงับหรือยกเลิกไป นายเขียวไม่ต้องถูกจำคุก ๖ เดือน ตามที่ศาลชั้นต้นตัดสินต่อไป
              ๔. การถอนฟ้องในคดีความผิดอาญาแผ่นดิน สำหรับความผิดอาญาแผ่นดินนั้น เมื่อมีการกระทำผิดดังกล่าวเกิดขึ้น ก็ไม่สามารถที่จะระงับคดีหรือยกเลิกคดีโดยวิธีการเปรียบเทียบหรือถอนคำร้องทุกข์ หรือยอมความได้ ดังนั้นวิธีที่จะทำให้คดีระงับได้ก็เฉพาะวิธีถอนฟ้องเท่านั้น สำหรับความผิดอาญาแผ่นดิน ผู้มีอำนาจฟ้องร้องผู้กระทำผิดต่อศาล ได้แก่  ผู้เสียหาย  หรือผู้ที่กฎหมายกำหนดให้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้เสียหายพวกหนึ่ง  และพนักงานอัยการอีกพวกหนึ่ง ดังนั้น เมื่อผู้เสียหายหรือผู้ที่มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องผู้กระทำผิดต่อศาลแล้ว ขณะที่คดีนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ไม่ว่าจะเป็นศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกา  ถ้าคดียังไม่ถึงที่สุด ผู้เสียหายหรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้เสียหายซึ่งเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีก็สามารถยกเลิกคดีดังกล่าวโดยการถอนฟ้องได้  ซึ่งก็จะเป็นผลทำให้ผู้เสียหายหรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้เสียหายนำคดีดังกล่าวมาฟ้องอีกไม่ได้  แต่อย่างไรก็ตามไม่ตัดสิทธิพนักงานอัยการที่จะนำคดีนั้นมาฟ้องอีก ตัวอย่าง  เช่น  นาย ก. ลักทรัพย์ของนาย ข. ไป นาย ข. จึงได้ยื่นฟ้อง นาย ก. ต่อศาลระหว่างที่ศาลกำลังพิจารณาคดีอยู่  นาย ข. ไม่ติดใจจะดำเนินคดีกับนาย ก. ต่อไป  นาย ข. ก็สามารถถอนฟ้องคดีดังกล่าวได้  ซึ่งเป็นผลทำให้คดีนี้ระงับไป  นาย ข. จะยื่นฟ้อง นาย ก. ในเรื่องนี้อีกไม่ได้แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากคดีลักทรัพย์เป็นคดีอาญาแผ่นดิน เมื่อนาย ก. ลักทรัพย์ของนาย ข. ดังกล่าวพนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนและจับกุมนาย ก. มาดำเนินคดีได้ แม้ นาย ข. เจ้าทรัพย์จะไม่ได้แจ้งความก็ตาม เมื่อสอบสวนเสร็จ พนักงานอัยการก็มีสิทธิยื่นฟ้องนาย ก. ต่อศาลในข้อหาลักทรัพย์ของนาย ข. อีกได้ แม้นาย ข. จะได้ถอนฟ้องนาย ก. ไปแล้วก็ตาม
                ๕. การดำเนินคดีอาญาจนถึงที่สุด     ในคดีอาญาทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นความผิด ลหุโทษ ความผิดอาญาอันยอมความได้ หรือความผิดอาญาแผ่นดิน  เมื่อไม่สามารถระงับคดีหรือเลิกคดีตามวิธีต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้นจนในที่สุดได้มีการนำคดีขึ้นฟ้องร้องต่อศาล ดังนั้น  เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาแล้ว และคดีดังกล่าวได้ถึงที่สุด ข้อพิพาทระหว่างผู้เสียหายและจำเลยดังกล่าวก็เป็นอันระงับไปผู้ใดจะนำคดีดังกล่าวมาฟ้องร้องหรือดำเนินคดีกับจำเลยคนเดียวกันกับที่ศาลพิพากษาแล้วอีกไม่ได้เพราะถือว่าบุคคลจะถูกฟ้องซ้ำในการกระทำผิดอันเป็นกรรมเดียวอีกไม่ได้
 ตัวอย่าง  เช่น  นาย ก. ลักทรัพย์ของ นาย ข. จึงถูกจับกุมมาดำเนินคดี พนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนแล้วส่งสำนวนการสอบสวนมาให้พนักงานอัยการพิจารณา  พนักงานอัยการพิจารณาแล้วมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหา และนำตัวผู้ต้องหาไปยื่นฟ้องเป็นจำเลยต่อศาล ในชั้นศาลจำเลยให้การปฏิเสธ พนักงานอัยการจึงได้นำพยานหลักฐานเข้านำสืบต่อศาล ในที่สุดศาลพิพากษาลงโทษจำคุก นาย ก. มีกำหนด ๑ ปี  นาย ก. พอใจไม่ยื่นอุทธรณ์คดีถึงที่สุด ถือว่าคดีนี้เป็นอันระงับ  ผู้ใดจะนำคดีที่นาย ก. ลักทรัพย์นาย ข. มาฟ้องร้องอีกไม่ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น