สาระของทนายชาวบ้าน.ฝึกหัด

บล็อกนี้...ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ในการเรียนการสอน รายวิชาอินเตอร์เน็ตและการสื่อสารในชีวิตประจำวัน เพื่อแลกเปลี่ยนสาระความรู้ระหว่างเพื่อนทั้งในและนอกห้องเรียน หากมีเนื้อหาสาระไม่ถูกต้องหรือผิดพลาดหรือกระทำการใดๆในทางที่ไม่ดี ทางผู้จัดทำบล็อกนี้ ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ...

วันพฤหัสบดีที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2555

สาระกฎหมายไทย เรื่อง ประเภทของคดีอาญา


                   คดีอาญาแบ่งออกเป็นประเภท ๆ ดังต่อไปนี้
  (๑) คดีความผิดลหุโทษ                   
  (๒) คดีความผิดอาญาอันยอมความได้                                                                                  
  (๓) คดีความผิดอาญาแผ่นดิน
 
          คดีความผิดลหุโทษ   หมายถึง  ความผิดอาญาแผ่นดินที่มีโทษเล็กน้อย  ซึ่งกฎหมายได้กำหนดโทษไว้เพียงจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เช่น ทะเลาะกันอย่างอื้ออึงในทางสาธารณะ , ยิงปืนในหมู่บ้านโดยไม่มีเหตุอันสมควร , เสพย์สุราจนเมาประพฤติตนวุ่นวายในสาธารณะสถาน , หรือดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า เป็นต้น จะเห็นได้ว่าความผิดลหุโทษนั้นไม่ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรง แต่อย่างไรก็ตามความผิดลหุโทษนี้กฎหมายไม่ได้กำหนดให้เป็นความผิดอันยอมความได้ ดังนั้น แม้ผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ไม่ติดใจดำเนินคดีไป ก็ไม่ทำให้คดีระงับไปได้  แต่ความผิดลหุโทษนี้เจ้าพนักงานสามารถเปรียบเทียบปรับได้ เมื่อผู้ต้องหาชำระค่าปรับตามที่ได้ทำการเปรียบเทียบแล้ว คดีก็เป็นอันระงับสิ้นไป

 
           ความผิดอาญาอันยอมความได้   หมายถึง  คดีอาญาประเภทซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อเอกชนคนหนึ่งคนใดเป็นส่วนตัว    มิได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐหรือสังคมเป็นและความผิดใดจะเป็นความผิดอาญาอันยอมความได้นั้น กฎหมายจะต้องระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นความผิดอันยอมความได้ เช่น ความผิดฐานยักยอก   ฉ้อโกง   หมิ่นประมาท    ทำให้เสียทรัพย์อนาจาร   ข่มขืนกระทำชำเรา   ออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงิน   เป็นต้น   ความผิดอาญาอันยอมความได้นี้เจ้าพนักงานของรัฐจะดำเนินคดีได้ก็ต่อเมื่อผู้เสียหายร้องทุกข์ (แจ้งความ) ต่อเจ้าพนักงานตามกฎหมายเสียก่อน และต้องร้องทุกข์ภายในกำหนด ๓ เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด สำหรับคดีความผิดอันยอมความได้นี้  หากผู้เสียหายไม่ประสงค์จะดำเนินคดีกับผู้ต้องหาต่อไป ก็สามารถถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้อง หรือยอมความได้  ซึ่งก็จะเป็นผลให้คดีดังกล่าวระงับไป


              ความผิดอาญาแผ่นดิน  หมายถึง คดีอาญาประเภทที่นอกจากจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายโดยตรงแล้ว  ยังก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐและสังคมโดยส่วนรวมอีกด้วยความผิดอาญานอกจากที่กฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นความผิดอันยอมความได้แล้ว จะเป็นความผิดอาญาแผ่นดินทั้งสิ้น  เช่น  ความผิดฐานลักทรัพย์  วิ่งราวทรัพย์  ชิงทรัพย์  ปล้นทรัพย์ ทำร้ายร่างกาย  ฆ่าคนอื่น วางเพลิงเผาทรัพย์  ขับรถประมาท  เป็นต้น ซึ่งความผิดอาญาแผ่นดินนี้  แม้ผู้เสียหายไม่ติดใจดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด ก็ไม่ทำให้คดีระงับ เจ้าพนักงานของรัฐก็สามารถดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดต่อไปได้คดีอาญาดังกล่าวสามารถระงับหรือเลิกกันได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น